มารู้จัก BRAG STRATEGIES เทรนด์การชอบอวด ทำกลยุทธ์การตลาดอย่างไรดี

ในยุคของโลกดิจิทัลแบบนี้ Social media มีบทบาทสำคัญในชีวิตเราเป็นอย่างมาก ทั้งเวลานั่งอยู่บนบีทีเอส เดินอยู่ในห้าง หรือแม้กระทั่งในที่ทำงาน มองไปทางไหนก็จะเห็นคนเล่น Social Media อยู่เสมอ และพฤติกรรม ‘การอวด’ บนโซเชียลมีเดียเป็นอะไรที่เราคุ้นชินกันอย่างแน่นอน แต่ว่านี่อาจไม่ใช่แค่การถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วจบอย่างเดียว แต่สามารถกลายมาเป็นแนวทางดี ๆ ให้กับเหล่านักการตลาดได้ด้วยกับกลยุทธ์การตลาดสำหรับเทรนด์คนชอบอวดที่ชื่อว่า “BRAG STRATEGIES”

 

BRAG STRATEGIES คืออะไร?

BRAG STRATEGIES คือ กลยุทธ์แนะนำสำหรับธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จากหลักจิตวิทยาการอวดของผู้บริโภคได้ เนื่องจากได้มีการศึกษาแล้วว่าการอวด การรีวิว และการแชร์บนโซเชียลในรูปแบบ E-WOM  จะมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค เป็นธรรมชาติของมนุษย์เมื่อพอเห็นคนอื่นอวดแล้ว ก็อยากจะอยากได้ อยากมี หรืออยากอวดลงโซเชียลมีเดียบ้าง

โดย BRAG STRATEGIES จะแบ่งเป็นทั้งหมด 4 แบบ ตามตัวอักษร B, R, A, G นั่นก็คือ

  • ธุรกิจแบรนด์เนม (Brandname)
  • ธุรกิจร้านอาหาร (Restaurant) 
  • ธุรกิจที่พักอาศัยหรือธุรกิจโรงแรม (Accommodation) 
  • ธุรกิจยิม (Gym) 

 

  • B: Brandname 

ผู้บริโภคของธุรกิจแบรนด์เนมมักจะใช้สินค้าแบรนด์เนมเพื่อบ่งบอกสถานะทางสังคมของตัวเองทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า นาฬิกา หรือนำเสนอบุคลิกภาพให้ดูดียิ่งขึ้น ผ่านการโพสต์อวดสินค้าที่เพิ่งถอยมา 

กลยุทธ์ที่แนะนำสำหรับธุรกิจนี้ คือ

  1. เลือกใช้ Influencer และ KOL ที่มีภาพลักษณ์เหมาะสมกับสินค้า

ถ้าเราเลือก influencer และ KOL ที่ไลฟ์สไตล์ตอบโจทย์ อาจเป็นการเพิ่ม “Brand awareness” ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การส่งของให้กับดารา (Celebrity gifting) หรือ Influencer ทางยูทูปที่มีไลฟ์สไตล์ที่ตรงกันกับกลุ่มลูกค้า จะทำให้ลูกค้าเห็นภาพว่าสามารถใช้สินค้านั้นในอีเวนต์ไหน สไตล์ไหน หรือใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

  1. นำเสนอความคุ้มค่า

แบรนด์ควรนำเสนอให้สื่อถึงความคุ้มค่าของสินค้าในการใช้งาน และที่มาที่ไปเบื้องหลังแบรนด์ เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับความพิเศษของหนังที่แบรนด์ใช้ถ้าลูกค้ามีความรู้มากขึ้น ก็จะให้ความสนใจในตัวสินค้ามากขึ้นเหมือนกัน

  1. ใช้วิธีการสื่อสารที่สะท้อนถึงความสำเร็จในการใช้ชีวิต

สินค้าแบรนด์เนมเป็นสินค้าที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมด้วย ดังนั้นควรมีการสื่อสารที่เกี่ยวข้องว่าสินค้านั้น ๆ สะท้อนถึงความสำเร็จในการใช้ชีวิต เช่น การมีหน้าที่การงานที่ดี ที่ทำให้มีรายได้มากพอมาซื้อสินค้าแบรนด์เนม

  1. การมอบของขวัญพิเศษสำหรับลูกค้าคนสำคัญในโอกาสต่าง ๆ

การที่แบรนด์ส่งของขวัญให้ลูกค้าในโอกาสต่าง ๆ เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคถ่ายรูปและบอกต่อความรู้สึก “พิเศษ” ที่ได้รับ ยกตัวอย่างเช่น การส่งของขวัญให้กับลูกค้าในเดือนเกิด หรือวันปีใหม่

  • R: Restaurant 

สำหรับผู้บริโภคในธุรกิจนี้มักเลือกที่จะแชร์รูปอาหารปัง ๆ ในร้านอาหารบรรยากาศดี ๆ แชร์โมเมนต์ชิค ๆ ลงบนโซเชียลมีเดีย

กลยุทธ์ที่แนะนำสำหรับธุรกิจนี้ คือ

  1. มีเมนูและการตกแต่งร้านที่สวยงามให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเชียลได้

ร้านอาหารควรสร้างจุดเด่นน่าสนใจที่ทำให้ลูกค้าอยากถ่ายรูปเพื่อโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย เช่น การตกแต่งตามสไตล์ที่กำลังฮิต หรือ การตกแต่งร้านอาหารตามเทศกาล

  1. สร้างความยากในการเข้าถึง ไม่ให้ทานได้ง่าย ๆ

เพิ่มความยากให้กับการเข้าถึงอาหาร เช่น เมนูสุดพิเศษประจำวัน ซึ่งถ้ามาวันอื่นอาจจะไม่ได้ะทานเมนูนี้ ดังนั้นลูกค้าต้องรีบจองเข้ามาเพื่อที่จะได้ทาน

  1. รักษามาตรฐานให้อยู่ในระดับที่สูงเสมอ

ทั้งรักษามาตรฐานของรสชาติ ความสะอาด หรือการบริการก็เป็นส่วนที่สำคัญที่จะเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแชร์เรื่องราวกัน ให้คนในโซเชียลมีเดียไปตาม ๆ กัน

  1. การได้รับการรับรองจากสถาบันที่มีชื่อเสียง 

เช่น การรับรองจากสถาบัน Le Cordon Bleu หรือ Michelin Star 

 

  • A: Accommodation

ผู้บริโภคมักจะอวดหรือบอกต่อ เมื่อได้รับบริการที่ประทับใจจากที่พักโรงแรม แต่อีกมุมเป็นการสื่อนัยที่แสดงออกถึงการมีอำนาจ บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมที่เหนือชั้นกว่าผู้อื่น รวมถึงผู้บริโภคอาจไม่ได้มาพักที่นี่บ่อย จึงต้องการถ่ายรูปสวย ๆ ไว้เก็บโมเมนต์ 

กลยุทธ์ที่แนะนำสำหรับธุรกิจนี้ คือ

  1. มีจุดถ่ายรูปตาม Theme เทศกาลต่าง ๆ

ควรจัดสถานที่และมุมถ่ายรูปให้มีหลากหลายมุม และสร้างบรรยากาศให้น่าถ่ายรูป เพื่อเป็นที่น่าจดจำของผู้บริโภค 

  1. มอบสิทธิพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยม

การสร้างความพิเศษให้แก่กลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมที่จะได้รับการบริการเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป ให้ผู้ บริโภคเกิดความประทับใจ รวมถึงอาจส่งผลให้ผู้บริโภคเกิด “Brand Loyalty” ต่อที่พักโรงแรมอีกด้วย

  1. ให้ความสำคัญกับ รีวิวใน Travel Booking Platform 

เมื่อผู้บริโภคได้ทำการรีวิวสถานที่ของเรา ทางผู้ประกอบการธุรกิจเองก็ควรที่จะให้ความสำคัญ และนำข้อติชมเหล่านั้น ไปเป็นแนวทางในพัฒนาของธุรกิจของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น 

 

  • G: Gym 

ผู้บริโภคของธุรกิจนี้มักจะอยากให้ตัวเองดูดีในสายตาผู้อื่น จึงทำให้ตัวเองมีสไตล์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ด้วยการอวดหุ่นที่ได้มาจากความพยายามออกกำลังกายของตัวเอง

กลยุทธ์ที่แนะนำสำหรับธุรกิจนี้ คือ

  1. คอยติดตามกระแส ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอยู่เสมอ และมีส่วนร่วมกับกระแสให้ทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา

เกาะติดกระแสที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจว่า ตอนนี้คนกำลังเสพคอนเทนต์แบบไหน เพื่อที่จะไม่ให้เอาท์ในกระแสที่กำลังมาแรงในช่วงนั้น

  1. สร้างเทรนด์การออกกำลังกาย หรือปั้นหุ่นในฝัน 

โดยทางฟิตเนสอาจจะสร้างชาเลนจ์ให้ผู้บริโภคอวดความสำเร็จของตัวเองที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนั้น ๆ เพื่อให้เกิดเป็นกระแสไวรัล (Viral) ในโซเชียลมีเดีย 

 

       ในยุคของโลกดิจิทัลนี้ ที่เป็นโลกของ Social Media และโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ควรปรับตัว ตามให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป และควรที่จะให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภค โดยการใช้กลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองให้เกิดความโดดเด่น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความอยากจะซื้อสินค้าหรือใช้บริการของแบรนด์เรา 

.

.

ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/BraggerMarketing

 

Main Menu