
รู้จักตลาด Personalized Food เทรนด์ธุรกิจอาหารสุขภาพที่มาแรง
ปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้การพัฒนาอาหารในรูปแบบ One size fits all อาจไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคได้เหมือนเดิม จึงเกิดแนวคิด Tailored to FIT ที่นำไปสู่การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่เรียกว่า Personalized Food ที่คาดว่าจะเป็นคลื่นใหม่ในโลกอาหารเพื่อสุขภาพ และถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการอาหารที่จะขยายฐานกลุ่มลูกค้า
Personalized Food หรืออาหารเฉพาะบุคคล คือ อาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นและเหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินชีวิต สุขภาพ และพันธุกรรมในแต่ละบุคคลเพื่อตอบสนองต่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และยังรวมถึงอาหารบุคคลเฉพาะกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่มนักกีฬา และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
ประเภทของ Personalized Food
-
อาหารสำเร็จรูปสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม
อาหารสำเร็จรูปปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่มที่ผลิตมาเฉพาะสำหรับกลุ่มบุคคล เช่นกลุ่มคนที่ใส่ใจสุขภาพ และให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับเป็นหลักหรือเพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นไ้ด้ในอนาคต
ตัวอย่างผู้ประกอบการ
- บริษัท Kewpie ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น สเต็กแฮมเบอร์เกอร์ไก่และเกี๊ยวกุ้งที่เนื้ออาหารมีความนุ่มและเคี้ยวง่าย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการบดเคี้ยว ลิ้นรับรสชาติได้น้อยลง และการกลืนอาหารลำบาก
- บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มีการผลิตข้าวต้มเพื่อผู้สูงวัย โดยมีคุณสมบัติเคี้ยวง่าย ดูดซึมดี และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม
-
อาหารสำเร็จรูปสำหรับเฉพาะบุคคล
เป็นอาหารสำเร็จรูปปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่ม ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเฉพาะตัวบุคคลมากขึ้น
ตัวอย่างผู้ประกอบการ
- บริษัท Nestle ที่เริ่มมีการนำผล DNA มาวิเคราะห์เพื่อสร้างเมนูอาหารเฉพาะบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้แบรนด์ Lean Cuisine โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการช่วยให้คำแนะนำและจัดทำแผนเมนูอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพส่วนบุคคลได้
-
ร้านอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม
มีการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ทำขึ้นมาเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้บริโภคที่ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มผู้สูงอายุรวมทั้งกลุ่มผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ
ตัวอย่างผู้ประกอบการ
- บริษัท Verdify ซึ่งเป็น FoodTech ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกแบบอาหารผ่านออนไลน์ อีกทั้งร่วมมือกับเชฟเพื่อรังสรรค์อาหารและพร้อมจัดส่งถึงบ้านสำหรับมื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และของว่าง ด้วยข้อมูลทางโภชนาการโดยคำนึงถึงการแพ้อาหารและเป้าหมายด้านสุขภาพ
- ร้านต้นกล้าฟ้าใส เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่มีอาหารที่เหมาะกับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น เมนูอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เมนูอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และเมนูอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาล
- Vista Kitchen ที่รังสรรค์เมนูอาหารที่เหมาะกับกรุ๊ปเลือดของแต่ละคน
-
ร้านอาหารสำหรับเฉพาะบุคคล
จะให้บริการอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลมากที่สุด โดยผู้บริโภคสามารถเลือกเมนูอาหารที่ต้องการ พร้อมสัดส่วนสารอาหารที่ร่างกายต้องการ
ตัวอย่างผู้ประกอบการ
- ธุรกิจร้านอาหาร Vita Mojo ในสหราชอาณาจักร นำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายและสุขภาพในแต่ละบุคคลได้ ด้วยข้อมูลพันธุกรรมหรือ DNA
- ร้าน Sushi Singularity ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากลูกค้ามีการจองแล้วร้านอาหารจะส่งชุดตรวจสุขภาพให้แก่ลูกค้าเพื่อทำการตรวจ DNA ของแต่ละคน เพื่อปรับส่วนผสมของซูชิให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด และมีจุดที่น่าสนใจคือ การทำชูชิออกมาเสริฟด้วยเทคโนโลยี 3D Printing Food
พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น และเทรนด์ Personalized Food ที่น่าสนใจและคาดว่าจะเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการอาหารสุขภาพ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาปรับใช้ วางกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อเป็นเจ้าแรก ๆ ในไทย และยังเป็นเทรนด์ที่ช่วยขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
.
.
ข้อมูลจาก : smethailandclub